สารเคมีกระเด็นเข้าตาทำไงดี

74355

คงเคยได้ข่าว ได้ยินหรือพบเห็นคนที่มีอุบัติเหตุสารเคมีกระเด็นเข้าตากันบ้างนะคะ หรือแม้แต่บางท่านอาจจะได้รับประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะเป็น โฟมล้างหน้า แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง กรดที่ใช้เติมแบตเตอรี่รถยนต์ กรดในโรงงานอุตสาหกรรม ยาฆ่าแมลงหรือแม้กระทั่ง กาวตราช้าง ยาหม่อง ยาน้ำนวดแก้ปวด

กาวตราช้างเข้าตา, ยาหม่อง หรือยาน้ำนวดแก้ปวดเข้าตานี่ อย่าขำกันนะคะ มีจริงๆและเจอบ่อยด้วยค่ะ โดยเฉพาะคนสูงอายุที่มีปัญหาโรคตา หรือต้องมีการหยอดยาอยู่เป็นประจำ เจอบ่อยเลยละค่ะ ที่เอายาหยอดตาแช่ไว้ในตู้เย็น

ละมีลูกหลานวางกาวตราช้างไว้ข้างๆ ตอนจะหยอดก็หยิบมาด้วยความคุ้นเคย ไม่ได้ดูว่าเป็นอะไรหยอดไปก็ได้เรื่องละค่ะ ปวดแสบร้อนตา น้ำตาไหลขึ้นมาทันที หรือบางคนวางใกล้ขวดน้ำมันมวย น้ำมันนวด แล้วเอามาหยอดตา ก็ร้องโอดโอยปวดแสบร้อนตา น้ำตาไหลพราก ตามัวกันทันที

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ตั้งสติค่ะ. ไม่ขำนะคะ ตั้ง สติจริงๆ เพราะว่าต้องรีบล้างตาค่ะ ล้างโดยด่วน ไม่ว่าจะเป็นน้ำก๊อกประปา น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว น้ำดื่ม หรือน้ำเกลือ อะไรก็ได้ที่หาได้ง่ายที่สุดตอนนั้น ล้างก่อนเลยค่ะ เยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้ เพื่อชะล้างสารเคมีที่อยู่ที่ตาให้เหลือตกค้างน้อยที่สุด

บางคนชอบเอาน้ำตักใส่ขันมาแล้วลืมตาในน้ำสะอาดกันนั้น เด็กๆหมอก็เคยทำค่ะ หรือน้ำยาล้างตายี่ห้อต่างๆเป็นขวดๆ อันนั้นไม่พอ และไม่ค่อยแนะนำนะคะ เพราะน้ำยาสารเคมีก็อยู่ในขันที่เราลืมตาแช่อยุ่นั่นละคะไม่ได้ไหน

ล้างตาทำยังไงเหรอคะ ???

การล้างตาที่ถูกต้องคือ การเทหรือปล่อยน้ำผ่านลูกตาโดยลืมตาและกลอกตาไปมา เพราะงั้นอาจจะมีคนช่วยในการล้าง แต่หาไม่ได้ หาไม่ทัน

วิ่งไปที่ก๊อกน้ำเลยค่ะทุกท่าน เปิดน้ำไหลตลอดแล้วตะแคงยื่นหน้าเข้าไปใต้ก๊อกเอาให้น้ำผ่านตาลงมาเยอะๆตลอด เวลา เป็นเวลานานสักพักนึง การล้างตาให้เร็วที่สุด และเยอะที่สุด จะเป็นการช่วยลดการอักเสบ หรือความเสียหายต่อตาที่เกิดจากปฏิกิริยาของสารเคมีที่มีต่อตาค่ะ ระหว่างนี้ก็ให้ญาติหรือคนที่ อยู่ใกล้เตรียมพาไปหาหมอตาโดยเร็วค่ะ ไม่ต้องตกใจหรือรอเจอหมอก่อนค่อยล้างนะคะ เพราะจะช้าไปค่ะ พอพบแพทย์แล้วเขาจะล้างเพิ่มให้อีกทีค่ะ

 ( รูปการล้างตาโดยมีคนช่วยเปิดตาและเทน้ำให้ไหลผ่านตา )
  (รูปการล้างตาโดยเอาตาไปรองใต้ก๊อกน้ำและเปิดน้ำให้ไหลผ่านตา )
 

ความรุนแรงของสารเคมีแต่ละชนิดเมื่อกระเด็นเข้าตาแล้วจะต่างกันค่ะ ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมี ถ้าเป็นด่างจะรุนแรงกว่ากรด กรดส่วนใหญ่มักจะก่อให้เกิดผลเสียต่อดวงตาใน 2-3 ชั่วโมงแรกเท่านั้นเอง เพราะกรดจะตกตะกอนกับโปรตีนในเนื้อเยื่อทำให้เหมือนเป็นเขื่อนกั้นไม่ให้น้ำ กรดซึมลึกลงต่อไป และกรดจะถูกลบล้างให้เจือจางลงด้วยน้ำในเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายที่มี ฤทธิ์ค่อนข้างเป็นด่าง กรดจึงก่อให้เกิดผลเสียหายเฉพาะที่ เช่น เปลือกตา, เยื่อบุตา, กระจกตาได้

แต่ในกรณีด่าง ด่างสามารถทะลุทะลวงเนื้อเยื่อของตาได้รวดเร็ว และมีการทำลายเนื้อเยื่อลงไปเรื่อยๆ เป็นหลายๆชั่วโมง และหลายวัน ต่อมาตัวด่างจะรวมกับไขมันของเนื้อเยื่อหุ้มผิวทำให้เกิดการแตกสลายของเซลล์ ทำลายเนื้อเยื่อให้อ่อนนุ่มลงและละลายหรือสลายตัวได้เองในที่สุด ดังนั้น ด่างที่เข้มข้นที่เข้าตาจำนวนมากอาจทำให้ตาดำเปื่อยยุ่ยสลาย จนทะลุและตาบอดตามมาได้เลยนะคะ

ในกลุ่มสารเคมีที่เข้าตา ด่างแอมโมเนียจะรุนแรงที่สุดซึ่จะมาเป็นแก๊สบรรจุในถังแก๊ส หากถังระเบิดและแก๊สมาเข้าตารวมกับน้ำตาจะเปิดเป็นด่างที่ผิวกระจาตาและ เยื่อบุตาได้

ด่างที่รุนแรงรองลงมาเป็นโซดาไฟ(NaOH) ทั้งในรูปผลึกหรือของเหลวที่มักใช้ในอุตสาหกรรม หรืออาจเป็นส่วนประกอบของน้ำยาทำความสะอาดบางชนิด ด่างที่มีความรุนแรงลดลงมาอีกคือแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Ca(OH)2) ซึ่งเป็นด่างที่อยู่ใน plaster หรือปูนซีเมนต์

อันตรายที่เกิดจากสารเคมีเข้าตาในเนื้อเยื่อแต่ละส่วน

จะมีอาการแตกต่างกันไปได้แก่

เปลือกตา ( Eyelid )

ระยะแรก : แสบ แดง อักเสบ หรือเกิดแผลติดเชื้อได้

ระยะยาว : เปลือกตาผิดรุป ขนตาทิ่มกระจกตา เปลือกตาม้วนเข้า หรือผังผืดที่ผิวหนังดึงรังเปลือกตาให้ม้วนออก

เยื่อบุตาขาว ( Conjunctiva )

ระยะแรก : แดง เคืองตาน้ำตาไหล, หรือหากเจอสารเคมีรุนแรงอาจจะขาวซีดได้ บ่งบอกว่าเซลล์ที่เยื่อบุตาขาวถูกทำลายมาก กลุ่มนี้อาการระยะยาวมักไม่ค่อยดี จะมีปัญหา เยื่อบุตาผิดปกติ และกระจกตาปิดปกติได้

ระยะยาว : เยื่อบุตาบาวติดกับเปลือกตาผิดตำแหน่ง ตาแดงอักเสบเรื้อรัง

กระจกตา ( Cornea)

ระยะแรก : ผิวถลอกที่กระจกตา ( มีอาการแสบเคืองตา น้ำตาไหล ตามัว ), กระจกตาเป็นฝ้าขาวขุ่น (ตามัว)

ระยะหลัง : ฝ้าขาวที่กระจกตา, เส้นเลือดงอกผิดปกติบนผิวกระจกตา

บางรายอาจเกิดกระจกตาทะลุ ตาบอดได้

นอกจากนี้อาจมีปัญหาความดันตาขึ้นเป็นต้อหินตามมาได้อีกด้วย

อ่านดูแล้วน่ากลัวเลยใช่มั๊ยค่ะ ภาวะสารเคมีเข้าตานี่ เพราะงั้นอย่าลืมคาถาที่บอกนะคะ

“ ตั้งสติ และล้างตา มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในการระหว่างรอการเดินทางไปพบหมอตาค่ะ “

พ.ญ. อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล