การผ่าตัดรักษาโรคท่อน้ำตาตัน

5740

อย่างที่พูดถึงในบทความก่อนเรื่องระบบระบายน้ำตา ว่า ระบบระบายน้ำตาของคนเราก็เหมือนๆกับท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้าล้างมือนั้นล่ะค่ะ ก็คือ  มีรูเปิดของท่อระบาย ส่วนของท่อระบายและปลายท่อระบาย ซึ่งถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อตันขึ้นมาก็เปิดปัญหาน้ำท่วมเอ่อ คือ เกิดทำให้น้ำตาไหล มีขี้ตาเยอะ ตลอดจนเกิดฝีหนองที่หัวตา ทำให้เสียบุคลิกและความมั่นใจเวลาอยู่ในวงสังคม

วีธีแก้ไขในกรณีท่อระบายน้ำที่บ้านตัน เราก็จะหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้ส่วนที่ตันนั้นเปิดออก ไม่ว่าจะเทน้ำยาละลายต่างๆลงท่อ ( ซึ่งทำไม่ได้กับตาคนเรา ) หรือแยงท่อ ( อันนี้เราแยงได้ในกรณีเด็กเล็กเพราะพังผืดมักไม่หนา แยงให้หายได้ ) หรือขุดท่อใหม่ไปเลยถ้าท่อที่ตันนั้น ตันมาก ซึ่งก็เหมือนกันการผ่าตัดรักษาท่อน้ำตาตันของผู้ใหญ่ คือทำการเชื่อมใหม่เปิดให้เลยโดยอาศัยปากท่อคือรูปท่อน้ำตาเดิมของผู้ป่วย แต่เปิดรูทางออกโดยตรงที่ถุงน้ำตาต่อเข้ากับจมูก ไม่ต้องไปเปิดที่ปลายรูท่อน้ำตาตามเดิม

 

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีทางเลือกในการผ่าตัดรักษาแบบไหนบ้างนะคะ

เพื่อจะได้เลือกให้เหมาะสมกับเรา

รูปแสดงทางเดินของท่อน้ำตา

 

การผ่าตัดรักษาท่อน้ำตาอุดตัน มี 2 วิธี คือ

การผ่าตัดแบบมีแผลเป็น

เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิม โดยการผ่าตัดผ่านทางผิวหนังที่ข้างสันจมูก ส่งผลให้เห็นเป็นแผลเป็นบนใบหน้า นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบ บวม แดงมาอยู่ก่อนแล้ว จะยังไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากผิวหนังบริเวณถุงน้ำตานั้นอักเสบ หากมีการผ่าตัดและเย็บแผล ผิวบริเวณนั้นจะไม่แข็งแรงทำให้เกิดแผลแยกหลังตัดไหมได้ การผ่าตัดจึงค่อนข้างล่าช้าออกไป  คือต้องรอจนกว่าถุงน้ำตาที่อักเสบจะสงบหายก่อนค่อยผ่าตัดวิธีนี้ได้ค่ะ บางรายเลื่อนการผ่าตัดออกไปและรอคิวผ่าตัดใหม่ กว่าจะได้คิวผ่าตัดก็อาจมีการอักเสบซ้ำกลับมาใหม่อีกทำให้ผ่าตัดไม่ได้ต้องเลื่อนซ้ำก็มีบ่อยๆ

ขั้นตอนการผ่าตัด

กรีดบริเวณข้างสันจมูก แผลยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แล้วหาตำแหน่งของสันของกระดูกเบ้าตาที่เป็นตำแหน่งที่อยู่ของถุงน้ำตา ทำการตัดกระดูกที่คลุมกันระหว่างถุงน้ำตาและช่องจมูกออก แล้วจึงทำการเชื่อมต่อของถุงน้ำตากับเยื่อบุโพรงจมูก ให้มีการเชื่อมต่อของถุงน้ำตาเข้าสู่ช่องจมูกโดยตรง แล้วทำการเย็บปิดแผลที่ละชั้นจนถึงผิวหนังโดยไหมไม่ละลาย และมีการตัดไหมหลังผ่าตัดประมาณ 5-7 วัน


ข้อดี

  1. สามารถผ่าตัดโดยแค่ฉีดยาชา ไม่ต้องดมยาสลบก็ได้ แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัว เนื่องจากมีเสียงการตัดกระดูก และอาจมีเลือดไหลลงคอในระหว่างผ่าตัด
  2. ประหยัดค่าใช้จ่าย ( ค่าบริการการใช้กล้อง Endoscope )
  3. อาการคัดจมูกหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันหลังผ่าตัดช่วง 1 เดือนแรก
  4. สามารถทำได้ทั้งในผู้ป่วยที่จมูกแคบ หรือมีประวัติการแตกผิดรูป ของกระดูกใบหน้าและสันจมูก หรือในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดดามเหล็กที่บริเวณกระดูกเบ้าตาและสันจมูก

ข้อเสีย

  1. มีแผลเป็นตลอดชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับผิวผู้ป่วย และเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัดว่ามีการอักเสบอยู่หรือไม่ขณะผ่าตัด
  2. ใช้เวลาฟื้นตัวช้ากว่าเล็กน้อย ต้องทำแผลและมีการตัดไหม

 

การผ่าตัดแบบไร้แผลเป็นโดยใช้วิธีการส่องกล้อง

“กล้องเอนโดสโคป”(Endoscope) ทำให้เห็นตำแหน่งที่จะผ่าชัดเจนยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่มีแผลเป็น และแม้จะมีอาการอักเสบ บวม แดงมาก่อนก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แต่ผ่าด้วยวิธีนี้ได้ ต้องมารับตรวจก่อน ถ้าผู้ที่เคยมีประวัติว่ามีอุบัติเหตุใบหน้าแตกยุบมาก่อน กระดูกจะผิดรูปไป การส่องกล้องผ่าตัดอาจไม่สำเร็จ อาจต้องรักษาแบบเป็นแผลเป็น หรือกรณีที่เป็นเนื้องอกในจมูกก็ต้องผ่าตัดเนื้องอกออกไปก่อน

 

ขั้นตอนการผ่าตัด

ส่องกล้องเข้าในจมูกข้างที่จะทำการผ่าตัด เพื่อส่งแสดงภาพของเนื้อเยื่อบริเวณที่เราจะทำการผ่าตัดขึ้นจอ Monitor แล้วทำการตัดเนื้อเยื่อโพรงจมูกและกระดูกในตำแหน่งที่เป็นที่อยู่ของถุงน้ำตา ที่คลุมกันระหว่างถุงน้ำตาและช่องจมูกออก แล้วจึงทำการเชื่อมต่อของถุงน้ำตากับเยื่อบุโพรงจมูก ให้มีการเชื่อมต่อของถุงน้ำตาเข้าสู่ช่องจมูกโดยตรง

ข้อดี

1.    ไร้แผลเป็น

*** ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเสริมจมูกมาก็ยังสามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ ***

  1. ระยะฟื้นตัวเร็วกว่า ไม่มีการตัดไหมที่ใบหน้า
  2. การทำงานของกล้ามเนื้อที่ปั๊มระบายน้ำตาออกไม่ถูกตัดทำลายในระหว่างผ่าตัด
  3. สามารถผ่าตัดรักษาได้แม้ในกรณีที่ยังมีการอักเสบของถุงน้ำตาอยู่ ทำให้ลดระยะเวลาในการรักษา

 

ข้อเสีย

  1. เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ( ค่าบริการการใช้กล้อง Endoscope)
  2. คัดอาการคัดจมูกหลังผ่าตัดมากกว่าการผ่าตัดแบบมีแผลเป็น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันหลังผ่าตัดช่วง 1 เดือนแรก ( เนื่องจากต้องมีการใส่เครื่องมือต่างๆผ่านช่องจมูกเข้าไป จึงอาจมีผิวถลอกของเยื่อบุโพรงจมูก )
  3. อาจไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของของกระดูกเบ้าตา และใบหน้าบางราย หรือในรายที่รูด้านในของจมูกแคบ
  4. มักต้องดมยาสลบในการผ่าตัด  เพราะเมื่อมีการใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดผ่านทางรูจมูกจะทำให้ผู้ป่วยอึดอัดและไม่สามารถให้ความร่วมมือที่ดีในการผ่าตัดได้

สรุปโดยรวม การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาตัน คือการผ่าตัดทำทางเชื่อมระหว่างถุงน้ำตากับเยื่อบุโพรงจมูกให้ น้ำตาไหลจากรูเปิดของท่อน้ำตา ลงท่อน้ำตาแล้วเข้าสู่ช่องจมูกโดยตรง เหมือนการทำ Bypass นั่นเองค่ะ

หลังจากที่เราทำทางเชื่อมของท่อน้ำตาและช่องจมูกแล้ว จะมีการใส่สายยางในท่อน้ำตาในระหว่างการผ่าตัด และจะทิ้งสายยางนั้นไว้ในท่อน้ำตาของผู้ป่วยต่อลงจมูกทิ้งไว้นาน 2-3 เดือน แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นตัวกั้นเนื้อเยื่อโพรงจมูกให้ไม่มีการงอกมาปิดรูเปิดใหม่ที่เราทำการสร้างขึ้นมา ช่วยอัตราความสำเร็จหลังการผ่าตัด

 

สายยางที่ใส่ ไม่ต้องกลัวว่าจะยาวโผล่ออกมาน่าเกลียดค่ะ เพราะต้องมาจ้องดูทีหัวตาถึงจะเห็น ส่วนปลายอยู่ในรูจมูก ไม่โผล่ออกมาปลายจมูก

เวลาเอาสายยางออกก็สามารถทำได้ที่ห้องตรวจเลย ไม่เจ็บ และไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัดอีกรอบค่ะ

แต่ข้อควรระวัง หากมีสายยางโผล่ปิดตำแหน่งออกมาทั้งหัวตาและจมูก อย่าดึงเพิ่มหรือตัดน่ะค่ะ เพราะมีปมของสายยางอยู่ในจมูก ควรติดต่อกลับไปพบแพทย์ เพื่อทำการจัดสายยางกลับลงตำแหน่งค่ะ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีท่อน้ำตาอุดตันและมีภาวะอื่นๆทางตาที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดในลูกตาเช่นผ่าตัดต้อกระจกหรือผ่าตัดจอประสาทตาผู้ป่วยกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาที่ตันก่อน จะมีความเสี่ยงของการติดเชื้อเข้าไปในลูกตาได้สูงกว่าปกติ

 

พญ.อารีย์ นิมิตรวงศ์สกุล

จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งเบ้าตาและอวัยวะรอบดวงตา